สิ่งที่รู้แล้ว (Knowledge) , สิ่งที่ยังไม่รู้ (Unknown) , สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ (Unknowable)
มหาคุรุด้านจิตวิญญาณที่ชื่อว่า OSHO เป็นท่านแรกที่ทำให้ผมรู้และเข้าใจความแตกต่างของคำสามคำที่จั่วหัวเรื่องไว้ข้างต้น เมื่อรู้และเข้าใจ แม้ว่าอาจจะยังเข้าไม่ถึงไปเสียทั้งหมด แต่ผมก็มีข้อสรุปเป็นการส่วนตัวว่า ถ้าเรารู้และเข้าใจสามสิ่งนี้ เราจะมีความสุขมากขึ้น มีความทุกข์น้อยลง
เราถูกสอนให้มั่นใจและมีความสุขได้ก็แต่เฉพาะ “สิ่งที่รู้แล้ว” (knowledge) เท่านั้น เราเรียก “สิ่งที่รู้แล้ว” นี้ว่า “ความรู้” หรือ “Knowledge” มาแต่ไหนแต่ไร จะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนในสถานศึกษาตั้งแต่อนุบาลยันปริญญาเอก ล้วนสอนกันแต่สิ่งที่รู้แล้ว ผ่านการพิสูจน์แล้ว ผ่านการทดสอบแล้ว ผ่านการมีประสบการณ์มาแล้ว ถ้าสิ่งไหนที่ยังไม่รู้ ก็จะต้องทำการสำรวจ ทำการวิจัย ทำการทดลอง ฯลฯ ให้รู้ให้จงได้ ต้องทำทุกอย่างจนหมดข้อกังขาเสียก่อนจึงจะนำมาสู่การเรียนการสอนได้ อะไรก็ตามที่ยังไม่ได้ผ่านกรรมวิธีต่างๆ นาๆดังกล่าวข้างต้น จะไม่ได้รับการเชื่อถือ จะไม่ได้รับการยอมรับใดๆ เลย
เมื่อถูกสั่งถูกสอนกันมาเช่นนั้น พวกเราส่วนใหญ่จึงกลัว “สิ่งที่ยังไม่รู้” (Unknown) กันไปหมด ทั้งๆ ที่โดยธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนมีคุณสมบัติเพียบพร้อมที่จะรับมือ พร้อมที่จะเผชิญ กับ “สิ่งที่ยังไม่รู้” ทั้งหลายทั้งปวงได้อย่างสบายมาก ถ้าเรายอมรับ และเห็นเป็นเรื่องปกติ เห็นเป็นเรื่องธรรมชาติ เห็นเป็นสีสัน เห็นเป็นความสดใหม่ ก็ไม่มีอันใดต้องวิตกกังวล สิ่งที่เรายังไม่รู้ แต่เมื่อมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ ในสิ่งนั้นๆ เราก็จะรู้ในที่สุด มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่เราสูญเสียสัญชาตญาณ เราสูญเสียไหวพริบ เราสูญเสียทักษะความสามารถในการเผชิญกับประสบการณ์สดๆ ใหม่ๆ เราสูญเสียความสนุก เราสูญเสียความท้าทายในชีวิต ไปจนหมดสิ้น ทุกอย่างต้องถูกทำให้รู้แล้วเท่านั้นเราจึงจะมั่นใจ เราจึงจะมีความสุขได้ นี่ทำให้เราพลาดครั้งยิ่งใหญ่ที่จะมีความสุขในชีวิต เพราะในชีวิตนี้ ในโลกนี้ ในจักรวาลนี้ ล้วนมีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกมากมายมหาศาล มากกว่าสิ่งที่เรารู้แล้วไม่รู้กี่ล้านล้านเท่า แต่เมื่อเรากลับไปกลัวสิ่งที่เรายังไม่รู้ เราจะมีความสุขได้อย่างไร เราเต็มไปด้วยความวิตกกังวล วิตกจริตคิดวนเวียน ระแวงสงสัยไปเสียทุกสิ่งทุกอย่าง
ลองดูตัวอย่างนกดูบ้าง นกทุกตัวบนโลกใบนี้มันมีความสุขกว่ามนุษย์เสียอีก เพราะนกทุกตัวมันรู้ว่าพระเจ้าจะเลี้ยงดูมันอย่างดี เพียงแต่พระองค์ไม่ได้จับมันขังไว้ในกรงเท่านั้น ทุกเช้ามันไม่เคยระแวงสงสัยว่าวันนี้จะหาอาหารได้หรือไม่ มันแน่ใจอยู่เสมอว่าขอแค่มันบินออกจากรัง ไม่ว่าอย่างไรมันก็จะกลับมาพร้อมอาหารเสมอ มากพอสำหรับตัวมันและลูกๆของมันที่รังด้วย! แต่มนุษย์ มนุษย์ที่คิดว่าฉลาดกว่านก ได้สูญเสียความมั่นใจเหล่านี้ไปหมดสิ้นแล้ว เราไม่เคยวางใจในอะไรได้เลย ถ้าไม่ทำให้มันรู้ได้เสียก่อน
มนุษย์ดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นสิ่งที่รู้แล้วให้ได้ จึงจะยอมมีความมั่นใจและมีความสุขได้บ้าง เราดิ้นรนอย่างน่าทุกขเวทนาถึงขั้นพยายามจะทำให้รู้ให้ได้ในทุกสิ่ง แม้แต่ในสิ่งที่ “ไม่อาจรู้ได้” (Unknowable) ก็ตาม “สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้” ก็เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่? สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริงหรือไม่ ชาติก่อน และชาติหน้ามีจริงหรือไม่? ฯลฯ อาชีพหมอดู อาชีพร่างทรง อาชีพสะกดจิตระลึกชาติ อาชีพเข็มทิศพิชิตจิตวิญญาณ ฯลฯ จึงเฟื่องฟูขึ้นทุกวันแม้โลกทางวัตถุจะพัฒนาไปสู่ยุคดิจิตอลแล้วก็ตาม เราไม่สามารถรู้สึกได้ด้วยตนเอง แต่ยอมควักเงินเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อให้มีคนมาบอกถึงสิ่งที่รู้แล้วสำหรับเขา เพื่อเราจะได้รู้บ้าง
ในข้อนี้มหาคุรุด้านจิตวิญญาณทุกท่านล้วนสอนว่า สิ่งที่ไม่อาจรู้ได้นี้ ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่อาจรู้ได้ อย่างมากที่สุดก็เพียง “รู้สึก” ได้ เท่านั้น ต้องไม่ใช่ความคิด แต่คือความรู้สึก ไม่ใช่ใช้หัวสมอง แต่ใช้อารมณ์ความรู้สึก ไม่ใช่เรื่องของ “ปรีชาญาณ” (Intelligence) แต่เป็นเรื่องของ “ปัญญาญาณ” (Intuition) เราเคยได้ยินใช่หรือไม่ที่มีคำกล่าวว่า “ผู้สำเร็จเชื่อก่อนแล้วจึงเห็น ผู้ล้มเหลวจะขอเห็นก่อนแล้วจึงจะเชื่อ” ความเชื่อจากความรู้สึกนั้น แม่นยำ เที่ยงตรง แทบไม่เคยผิดพลาด เสียยิ่งกว่าความเชื่อที่มาจากความรู้ มาจากความคิด มาจากการคิดใคร่ครวญหาเหตุหาผลเสียอีก นี่ออกจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เราถูกสั่งถูกสอนมาอย่างชนิดยอมรับกันไม่ได้เอาเลยทีเดียว!!
ในสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้นี้ เราไม่ต้องพยายามทำอะไร ไม่ต้องพยายามพิสูจน์อะไร เราทำได้แค่ว่าเรารู้สึกอย่างไรก็ทำไปตามนั้นเท่านั้น ไม่ต้องไปวิตกกังวลใดๆ ลองทำตามนกและสัตว์โลกอื่นๆ ดูบ้างก็ได้ เราอาจมีความสุขมากกว่าที่เคย
ข้อสรุปคือ อย่าไปติดกับดักแค่ “สิ่งที่รู้แล้ว” เท่านั้น ขอให้มั่นใจว่าเราสามารถรับมือกับ “สิ่งที่ยังไม่รู้” ได้เสมอ ประสบการณ์สดใหม่เป็นเรื่องของสีสันและความสนุกในชีวิต ไม่ต้องพยายามไปพิสูจน์อะไรกับสิ่งที่ไม่อาจรู้ได้ แค่รู้สึกอย่างไรก็ทำไปตามนั้น หากทำได้ดังนี้ เราก็น่าจะสุขมากขึ้น ทุกข์น้อยลงนะครับ
วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์
1 กรกฎาคม 2560