Joseph Stiglitz |
โจเซฟ สติกลิตซ์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจไทย (ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์)
โจเซฟ สติกลิตซ์ กลายเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยตอบรับคำเชิญเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หลังจากที่ถกเรื่องเศรษฐกิจกันอย่างถูกคอจากการพบปะกันในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
โจเซฟ สติกลิตซ์ (Joseph Stiglitz) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และนักเศรษฐศาตร์รางวัลโนเบล ปี 2001 เจ้าของ "ทฤษฎีข้อมูลที่ไม่สมมาตรกัน" (Theory of information Asymmetry) ซึ่งส่งผลให้ตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ได้กลายเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจให้กับ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยตอบรับคำเชิญเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยเป็นที่ปรึกษาที่รัฐบาลไทยไม่ต้องจ่ายค่าตัวใดใดทั้งสิ้น
เพราะการให้คำปรึกษาครั้งนี้ของสติกลิตซ์ เป็นการ "แลกเปลี่ยนความคิดเห็น" กับทาง อภิสิทธิ์ และรัฐบาลไทย เนื่องจากทั้งสองมีมุมมองต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกัน
สำหรับคนไทยที่ไม่ได้ข้องแวะกับเรื่องเศรษฐศาสตร์มากนัก ชื่อของสติกลิตซ์ อาจไม่คุ้นหูเท่ากับไมเคิล อี พอตเตอร์ ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของ ประเทศไทยในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หรือพอล ครุกแมน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Princeton ที่เป็นขาประจำของรัฐบาลจอร์จ บุช
สติกลิตซ์เป็นนักเศรษฐศาสตร์สาย Neo - Keynesian ที่เชื่อในกลไลตลาด และการแทรกแซงของภาครัฐด้วยการใช้นโยบายการคลัง และนโยบายการเงิน ที่พวกกลุ่มหัวก้าวหน้าในสหรัฐอเมริกาชื่นชมในตัวเขา โดยเป็นอดีตหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจของ ประธานาธิบดีบิล คลินตัน และอดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก
เขาเกิดที่มลรัฐอินเดียนาเมื่อปี 1943 และปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ Global Thought ของมหาวิทยาลัย ในยุครัฐบาลบิล คลินตัน เขาเป็นสมาชิกของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และต่อมาเป็นประธานของสภานี้ในช่วงปี 1993- 1997 จากนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าเศรษฐกรและรองประธานอาวุโสของธนาคารโลกในช่วงปี 1997-2000
สติกลิตซ์ ได้เผยแพร่แนวคิดของเขาผ่านหนังสือ Globalization and Its Discontents และ Making Globalization Work ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง
โดย Globalization and Its Discontents หรือวิจารณ์การทำงานของไอเอ็มเอฟในปี 2540 ว่า เป็นการทำงานที่ล้มเหลว และเป็นต้นกำเนิดของความยากจนไม่รู้จบ
Making Globalization Work เป็นภาคต่อของเล่มแรกที่นำเสนอการใช้กระบวนการโลกาภิวัตน์เพื่อปรับปรุงระบบ การเงิน การค้า และการพัฒนาเศรษฐกิจของสังคมโลก
ล่าสุด The Three Trillion Dollar War เพิ่งตีพิมพ์ออกมาในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขาวิเคราะห์วิจารณ์ต้นทุนของสงครามอิรัก ซึ่งมิได้เป็นภาระเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่เป็นภาระของโลกด้วย รวมทั้งเสนอยุทธศาสตร์การถอนทหารอเมริกันออกจากอิรัก
ชื่อเสียงอีกด้านหนึ่งของสติกลิตซ์ คือ การต่อต้านทุนนิยม
เขาไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อมั่นในระบบทุนนิยมแบบเดิม และการค้าเสรีแบบสุดขั้ว แต่ก็ไม่ใช่จะปฏิเสธเสียทั้งหมด
ตามความคิดของสติกลิตซ์ ทุนนิยมมี "ข้อบกพร่อง" ของระบบที่ต้องทำการแก้ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรกำจัดทุนนิยมทิ้งไป เพราะทุนนิยมก็ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการให้ความมั่งคั่งกับคนที่ไร้โอกาส แต่ต้องหาวิธีแก้ไขข้อบกพร่องของตลาดให้ได้
ท่ามกลางความตระหนกของผู้คนหลังจากมูดี้ส์ออกมาประกาศว่า เศรษฐกิจไทยจะแย่สุดในภูมิภาคเอเชีย แต่เสียงชื่นชมของสติกลิทซ์ที่มีต่อรัฐบาลไทยบนเวที World Economic Forum จนถึงกับออกปากชมแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย พร้อมกับกล่าวเตือนในเรื่องการปฏิบัติ จนนำมาซึ่งการตอบรับเป็นกุนซือทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลไทยในครั้งนี้ น่าจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ขึ้นมาได้บ้างTags : โจเซฟ สติกลิตซ์ • Joseph Stiglitz • Neo - Keynesian
--------
Ref. :
-
http://www.bangkokbiznews.com-
http://en.wikipedia.org/wiki/Joseph_Stiglitz -
http://www2.gsb.columbia.edu/faculty/jstiglitz/ -
http://www.josephstiglitz.com/ -
http://images.google.co.th/images?hl=en&q=Joseph%20Stiglitz Photo:
-
http://news.boisestate.edu/newsrelease/archive/2005/082005/stiglitz_joseph(300).jpg