คำถาม 3 ข้อ เพื่อการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศ
หัวข้อบรรยายยอดฮิตที่ผมมักได้รับเชิญให้ไปบรรยายให้กับบุคลากรทุกระดับขององค์กรต่างๆ ในรอบสิบกว่าปีมานี้ มีชื่อว่า “การพัฒนาตนเองสู่ความเป็นเลิศ” หรือบางแห่งเขาก็อยากให้ใช้ชื่อหัวข้อที่มันเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการทำงานว่า “การพัฒนาตนเองสู่ผู้มีประสิทธิผลสูงในการทำงาน” ซึ่งอันที่จริงก็มีเนื้อหาเดียวกัน
หัวข้อบรรยายนี้ ใช้เวลาในการบรรยาย ตั้งแต่ 1 ชั่วโมง (ยังไม่เคยน้อยกว่านั้น แต่จะเอาน้อยกว่านั้น ผมก็บรรยายให้ได้) ไปจนถึง 1 วัน (6-7 ชั่วโมง) และที่มากสุดที่เคยทำมา คือ 2 วัน (12-14 ชั่วโมง) แต่จะ 1 ชั่วโมง (หรือน้อยกว่านั้น) หรือ 6-7 ชั่วโมง หรือ 12-14 ชั่วโมง ผมจะต้องทำให้ผู้ฟังตอบคำถามกับตนเองให้ได้ 3 ข้อ ดังนี้ว่า
1. ฉันเป็นใคร?
2. ฉันมาทำอะไรที่นี่? และ
3. จากนี้ฉันจะไปไหนต่อ?
คำถามแรกที่ว่า “ฉันเป็นใคร?” นั้น คือการค้นให้พบว่าตัวเราเองมี “ความเก่ง” ในด้านใด? (“ความเก่ง” ที่ว่านี้ ใช้แทนคำอื่นๆ อีกหลายคำที่ใช้เรียกแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม อย่างคำว่า “ต้นแบบ” “จุดแข็ง” “ธาตุ” “ความถนัด” “อัจฉริยะภาพ” “พรสวรรค์”) บางคนทั้งชีวิตไม่เคยค้นพบว่าตัวเองเกิดมาเพื่อเป็นอะไรได้ดีที่สุด จึงมีชีวิตอยู่ไปวันๆ ตลอดเดือน ตลอดปี ตลอดชาติ ด้วยการเป็นได้แค่ “มนุษย์ปานกลาง” ได้เท่านั้น นี่เป็นเป็นการพิจาณาตัวของคนผู้นั้นเองโดดๆ ไม่มีการเปรียบเทียบแข่งขันกับใครทั้งสิ้น
การจะรู้ว่า “ฉันเป็นใคร?” ได้นั้น จึงเกี่ยวพันกับการเลือกและตัดสินใจที่จะเป็นโน่นเป็นนี่ ที่จะทำโน่นทำนี่ เพื่อจะค้นหาความเก่งของตัวเองให้พบ
คำถามที่สองที่ว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่?” คือการถามตัวเองถึงสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะกำลังทำอะไรก็ตาม ว่านั่นทำให้เราค้นพบและพัฒนาความเก่งของเราหรือไม่ และที่สำคัญ เรากำลังใช้ความเก่งของเรานั้น ไปรับใช้ใครไป ช่วยเหลือใคร อยู่หรือไม่ การมาทำอะไรที่นี่ ทำให้เราพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศได้หรือไม่
การตอบคำถามข้อนี้จึงข้ามพ้นไปจากการทำงานเพียงแค่แลกกับเงินเดือน ซึ่งถึงแม้จะมากขนาดไหน แต่ถ้างานนั้นมันไม่สามารถทำให้ใครเป็นเลิศในสิ่งที่เขาเกิดมาเพื่อจะเป็นแล้ว ก็อาจถือได้ว่าเป็นงานที่ไม่ได้มีประโยชน์อย่างแท้จริงสำหรับบุคคลผู้นั้นเลย
และคำถามสุดท้าย คือ “จากนี้ฉันจะไปไหนต่อ?” คือการถามถึงเป้าหมาย เจตนารมณ์ของคนคนนั้น ว่าต้องการอะไรจริงๆ ในชีวิต เขาอยากมี อยากทำ อยากเป็นอะไรจริงๆ งานที่เขากำลังทำอยู่อาจเป็น “งานแห่งชีวิต” ของเขาแล้วก็ได้ เขาจึงไม่จำเป็นต้องตอบคำถามนี้อีก เขาก็แค่ทำสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้ดียิ่งๆ ขึ้น ให้เป็นเลิศยิ่งๆ ขึ้นไปเท่านั้น
Deepak Chopra คุรุด้านจิตวิญญาณท่านหนึ่ง ได้เขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อว่า “The Seven Spiritual Laws of Success” (หรือในภาคภาษาไทย ชื่อว่า “7 กฎด้านจิตวิญญาณเพื่อความสำเร็จ ทั้งทางโลกและทางธรรม” แปลโดย นันท์ วิทยดำรง) โดยเขาให้เราถามตัวเองสองข้อ คือ หนึ่ง ถ้าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญ สมมติว่าเรามีทั้งเวลาและเงินมากมาย เราจะทำอะไร? ถ้าเรายังคงทำในสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบัน นั่นแสดงว่าเราอยู่ใน “ธรรมะ” (ผู้รู้บางท่านใช้คำว่าอยู่ในสภาวะ “ไหลลื่น” หรือ Flow บางท่านใช้คำว่าอยู่ใน “มณฑลแห่งพลัง”) เพราะว่าเรามีความรักในสิ่งที่เราทำ และเรากำลังแสดงความสามารถเฉพาะตนของเราออกมา สอง ให้เราถามตัวเองว่า อะไรเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเรามากที่สุดในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ จงตอบคำถามสองข้อนี้และนำคำตอบไปสู่การปฏิบัติ
ในคำถามสุดท้ายนี้ ผมมีคำถามท้ายสุดถามต่อว่า ถ้าเวลาและเงินไม่ใช่ปัญหา เราก็จะเลิกทำสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ และจะหันไปทำอย่างอื่นที่อยากทำแทน! คำถามคือ แล้วทำไมไม่ไปทำอย่างอื่นที่อยากทำ ทนทำสิ่งที่ไม่อยากทำอยู่ทำไม แต่ถ้าคำตอบออกมาว่าเวลาและเงินยังเป็นปัญหาอยู่ จึงต้องทนทำสิ่งนั้นไปก่อน ก็ต้องถามต่อไปอีกว่าแล้วจะทนทำไปอีกนานเท่าไหร่ วางเป้าหมายและวางแผนอย่างไรต่อไปเพื่อการนี้
โศกนาฏกรรมคือ คนจำนวนมากเกิดมาและตายไปโดยที่ไม่เคยรู้ว่าตนเองเกิดมาเพื่อเป็นอะไรได้ดีที่สุด และต้องทนทำสิ่งที่ไม่อยากทำด้วยเหตุผลร้อยแปด โดยที่ก็ไม่รู้ว่าชีวิตนี้อยากทำอะไรจริงๆ!!
วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์
21 พฤศจิกายน 2560