ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

มีนาคม 28, 2024, 06:01:32 PM

Login with username, password and session length

Ads PAT

P&T Hosting Co., Ltd. :: บริการ | จดโดเมนเนม | เว็บโฮสติ้ง | VPS | Co-location |

ผู้เขียน หัวข้อ: การพูด - วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์  (อ่าน 2157 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ กองบรรณาธิการ

  • Mr. Smart
  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 2948
  • ความนิยม: +0/-0
  • Multi Smart Training
    • ดูรายละเอียด
    • Smart Forums
การพูด - วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 23, 2017, 02:25:37 PM »
ระยะนี้ ต้องไปพูดเรื่องการพูดอยู่สองสามที่ ช่วงค้นหาเอกสาร ก็ไปพบข้อเขียนเรื่องการพูดเก่าเก็บหลายชิ้น บางชิ้นน่าจะยังเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจ จึงได้นำมาลงไว้ ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง เริ่มจากเรื่องนี้เลยก็แล้วกัน..

"กว่าจะเป็นคำพูด"
               
 เคยสงสัยหรือไม่ครับว่าเหตุใดบางคนถึงช่างพูด บางคนถึงพูดเก่ง บางคนถึงพูดมาก และบางคนถึงปากหม_? ในขณะที่บางคนก็ไม่ค่อยพูด บางคนก็พูดน้อย บางคนก็ทำเหมือนลืมเอาปากมา ฯลฯ ลองพิจาณาสิ่งที่ผมจะนำมาคุยกันในคราวนี้  แล้วอาจจะได้คำตอบ

 ผมเรียงลำดับขั้นตอนของการพูด ที่กว่าจะออกมาเป็นคำพูดได้นั้น มันก็น่าที่จะเป็นไปตามขั้นตอนทีละข้อ ดังต่อไปนี้ครับ :-

 
                1.มีเรื่องพูด
                2.อยากพูด
                3.กล้าพูด
                4.พูด
                5.หยุดพูด
                6.ฟัง

 ลองมาพิจารณากันทีละประเด็นของขั้นตอนเหล่านี้กัน

 1.มีเรื่องพูด : มันต้องเริ่มต้นที่ประเด็นนี้ครับ ก่อนจะพูดอะไรได้นั้น มันก็ต้องมีเรื่องที่จะพูดเสียก่อน ทีนี้มันก็จะต้องเกี่ยวข้องกับ “รู้” อะไรมาแล้วบ้าง? “คิด” อะไรมาก่อนหรือเปล่า? แยกแยะออกหรือไม่ว่าเรื่องนั้นๆ มันควรพูดหรือไม่ควรพูด? ไปจนถึงคะเนได้หรือไม่ว่าพูดแล้วมันได้อะไรขึ้นมา? เป็นประโยชน์ต่อยุทธภพมากน้อยเพียงใด?

 โศกนาฏกรรมของประเด็นนี้ก็คือ ไม่มีเรื่องพูดแล้วดันพูด! และที่น่าเศร้าไม่แพ้กันก็คือ มีเรื่องที่ควรจะต้องพูด แต่กลับไม่ยอมพูด! (ซึ่งก็อาจเกิดจากสาเหตุในขั้นตอนลำดับถัดไป) ซึ่งก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายได้พอๆ กัน

 มี่คำกล่าวว่า “คนฉลาด พูดเพราะรู้ว่ามีเรื่องสำคัญบางอย่างที่ต้องพูด แต่คนโง่ พูดเพราะรู้สึกว่าต้องพูดอะไรสักอย่าง!”

 โดยหลักการกว้างๆ แล้ว คนเรานั้นมันต้องมีเรื่องอะไรมาเล่าให้คนอื่นฟังบ้าง การที่ไม่มีอะไรบรรจุอยู่ในหัวกะโหลกเลยนอกจากขี้เลื่อยนั้น มันต้องทำอะไรสักอย่างกับชีวิตแล้วละครับ อ่านน้อยไปหรือเปล่า ฟังน้อยไปหรือเปล่า ช่างสังเกต ช่างจดจำน้อยไปหรือเปล่า รู้จักคิดใคร่ครวญน้อยไปหรือเปล่า เดินไปไหนมาไหนก็เอาแต่เดินแผ่รังสีโง่ไปทั่วทั้งปริมณฑลหรือเปล่า?ฯลฯ เหล่านี้สมควรไปสำรวจตรวจสอบชีวิตดูหน่อยก็ดีนะครับ

 2.อยากพูด : นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่มีเรื่องที่ควรพูด แต่กลับไม่ยอมพูด ก็เพราะเขาไม่อยากที่จะพูดนั่นเอง  ที่ไม่อยากที่จะพูด ก็อาจเป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น ไม่รู้ว่ามันสำคัญ ไม่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์อะไรได้ พูดไปก็เท่านั้น พูดไปก็ไม่มีใครฟัง พูดมาตั้งหลายหนแล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรดีขึ้น พูดไปก็ไลฟ์บอย  ไม่มีอารมณ์จะพูด หมดอารมณ์พูดไปเสียก่อนเวลาอันควร ฯลฯ

 คนที่มีนิสัยช่างพูด ช่างคุย นั้นล้วนแต่มีอารมณ์อยากพูดกันไปทั้งนั้น ไปรู้ไปเห็นอะไรมาก็อยากที่จะมาเล่าให้คนอื่นฟัง  เสน่ห์อย่างหนึ่งของคนเรานั้นก็คือต้องเป็น “นักเล่าเรื่อง” (Storyteller) คุณสมบัติข้อนี้นี่ ผู้รู้บางท่านถือว่าสำคัญอย่างยิ่งยวดของคนในโลกศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว!
 
 มีเรื่องดีๆ ที่ต้องพูด แต่กลับไม่อยากพูด ก็อาจไม่ต่างกับการไม่มีเรื่องดีๆ อยู่ในหัวเลยเช่นกัน!

 ถ้ามีเรื่องดีๆ ที่ควรพูด ถ้าพูดแล้วก็จะเกิดประโยชน์ตามสมควร อีกทั้งกาลเทศะก็เอื้ออำนวยให้พูดได้ เช่นนี้แล้ว ต้องสร้างความอยากที่จะพูดขึ้นมาให้ได้ครับ มีคำกล่าวว่า “80% ของความสำเร็จ ก็คือต้องทำให้มันปรากฏออกมา”  (ทั้งโดยการพูดและการกระทำ) มีผู้คนจำนวนมากกำลังอยู่ในจุดที่ต่ำกว่าศักยภาพของตนเองมาก ทั้งนี้ก็เพราะไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นว่าเขาเก่งแค่ไหน เลิกยึดถือภาษิตที่ว่า “ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน” หรือ “กลองจะดี ไม่ต้องมีใครตี มันก็ดังเอง” หรือ “ทำดีอย่างเงียบๆ ไปเถอะ แม้คนไม่เห็นแต่ผีสางเทวดาก็ย่อมเห็น” กันเสียที แล้วก็ประโยคที่ว่า “ปิดทองหลังพระ” และ “คมในฝัก” นั่นก็เหมือนกัน ถ้าตีความหมายผิดพลาดไปละก็ ชาตินี้เป็นไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดกันละ!

 3.กล้าพูด : นี่ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายคนที่อยากพูด แต่ไม่ได้พูด ทั้งนี้ก็เพราะไม่กล้าพูดนั่นเอง ส่วนมากมักเกิดจากการขาดความมั่นใจในตัวเอง  กลัวว่าจะพูดได้ไม่ดี กลัวพูดไม่รู้เรื่อง กลัวจะเป็นการขยายขี้เท่อของตัวเอง บางคนคิดว่าการที่ไม่พูดอะไรเลย ก็ไม่มีใครรู้ว่าตนเองโง่หรือฉลาด! บางคนก็ยังไปยึดถือภาษิตโบราณคร่ำครึอย่างไม่จำแนกว่า “พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง!?!” (ซึ่งที่จริงเขาน่าจะรู้แล้วว่าพูดไปน่ะยังได้ตั้งสองไพเบี้ย แต่ไอ้นิ่งนี่สิ เสียตั้งตำลึงทองแน่ะ!)
 
 โดยสรุป เหตุที่คนไม่กล้าพูดนั้น ก็เป็นเพราะ “ไม่มั่นใจตนเอง, กลัวเกรงจะขายหน้า, เงื้อง่าราคาแพง,คนอื่นแย่งพูดตลอด” สองอย่างหลังนี้เกิดจากตั้งท่าจะพูดนานไปหน่อย เลยกลายเป็นท่าดี ทีเหลวไป หรือรอนานเกินไปจนเฉาไปเอง บางคนถูกแย่งพูดบ่อยๆ มิหนำซ้ำคนที่แย่งพูดก็ดันพูดได้ดีเสียอีกด้วย เลยพาลยิ่งไม่มั่นใจเข้าไปอีก

 ความกล้าพูดเป็นเรื่องของ “ทัศนคติ” มากกว่าอย่างอื่น วิธีแก้ก็คืออย่าไปคิดอะไรมาก ไม่ต้องไปห่วงโน่นนี่  ไม่มีอะไรแก้ความกลัวได้ดีเท่ากับการกล้าทำในสิ่งที่กลัวนั่นแหละ ลองกล้าสักครั้งแล้วจะค่อยๆ กล้าขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้เริ่มเสียทีก็ไม่สามารถไปต่อได้

 นอกจากนี้ ถ้าเราสร้างความอยากให้มากพอ บางทีมันก็ทำให้เรากล้าขึ้นมาได้เหมือนกัน

 4.พูด : ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องทางเทคนิคล้วนๆ ที่ผู้คนยอมเสียเงินกันเป็นพันเป็นหมื่นก็เพื่อจะให้มีเทคนิคการพูดนี่แหละ ไว้มีโอกาส อาจค่อยๆ เอามาเล่าให้ทุกท่านฟัง

                           แต่ที่พอจะสรุปตรงนี้ได้ก็คือ ไม่มีวิธีไหนที่จะทำให้เราเก่งเรื่องการพูดได้ดีเท่ากับการฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝนครับ!
 
 5.หยุดพูด : บางคนเห็นว่านี่ไม่น่าจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการพูด แต่ผมกลับเห็นว่าสำคัญครับ โศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงกว่าที่กล่าวไว้ข้างต้น ก็คือ หลายคนทั้งคนที่ไม่มีเรื่องพูดแต่ดันพูด หรือคนที่มีเรื่องพูดแล้วก็พูดไป แต่ทว่าพวกเขาดันพูดไม่ยอมหยุดครับ! มีคนเคยเสนอให้ผมจัดหลักสูตร “หยุดพูด” หรือหลักสูตร “ชะลอการพูด” เลยเสียด้วยซ้ำไป มีคนเคยเปรียบไว้ว่าบางคนนั้น ไม่ใช่แค่พูดจนลิงตกต้นไม้ได้เท่านั้น แต่เขาสามารถพูดจนลิงต้องยื่นกล้วยในมือให้เลยทีเดียว!
 
 ผู้พูดที่ดีต้องรู้ว่าเวลาไหนควรจะหยุดพูดได้แล้ว หรือแม้แต่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ที่จะไม่พูด หากสถานการณ์ต่างๆ มันไม่เหมาะสม

 6.ฟัง : จริงๆ แล้ว การฟังนั้นควรจะมาก่อนการพูดด้วยซ้ำไป และถึงที่สุดแล้วการฟังนั้นสำคัญกว่าการพูดเสียอีก มีคำกล่าวว่า “คนใหญ่ผูกขาดการฟัง คนเล็กผูกขาดการพูด”  ผู้บริหารที่ดีนั้น เขาจะฟังมากกว่าพูด นักขายเก่งๆ นั้น เขาก็จะฟังมากกว่าพูด แม้แต่นักพูดอาชีพก็เถิด ท่านเคยสังเกตไหม เมื่อเขาพูดจบแล้วลงมาจากเวที พวกเขามักจะเงียบและไม่ค่อยพูด ถ้าใครเคยเห็นนักพูดที่จ้อไม่หยุดทั้งบนเวที นอกเวทีแล้วละก็ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าเขาเป็นนักพูดปลายแถว!

 จะเห็นได้ว่ากว่าที่จะออกมาเป็นคำพูดได้นั้น มันก็มีขั้นตอนอยู่หลายขั้นตอนเลยทีเดียว ไม่ใช่แค่พูดๆๆๆไปเรื่อยเปื่อยเท่านั้น ก็ขอฝากไว้เป็นบทกลอนในตอนจบนี้ว่า..

 “คำพูดนั้นบอกได้ถึงดวงจิต
 คำพูดนั้นบอกความคิดฉลาดเขลา
 คำพูดนั้นบอกนิสัยในตัวเรา
 คำพูดนั้นบอกรากเหง้าความจริงใจ

           คำพูดนั้นบอกได้ถึงกำพืด
 คำพูดนั้นบอกหวานจืดคำขานไข
 คำพูดนั้นบอกหมดสิ้นเราคือใคร
 คำพูดนั้นก่อนพูดไปจงไตร่ตรอง”

วสันต์ พงศ์สุประดิษฐ์
  23 สิงหาคม 2560


หลักสูตรการฝึกอบรม สัมมนาอบรม วอล์คแรลลี่ WalkRally @MultiSmart Line ID@coa4735j
www.multi-smart.com www.walkrally.net www.walkrally.in.th